Subscribe:

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หลักในการจัดวางไมโครโฟน




หลักในการจัดวางไมโครโฟน (Microphone Placing)
              ในการจัดวางไมโครโฟนนั้น ไม่มีกฎตายตัว เพราะมีตัวแปรมากมาย เช่น ลักษณะเสียงของห้องส่งหรือห้องบันทึกเสียง ประเภทของดนตรี ฯลฯ ผู้ที่จะตัดสินชี้ขาดว่าไมโครโฟนวางถูกที่แล้วหรือยัง ย่อมได้แก่ผู้ทำหน้าที่ผสมเสียง (Mixing)
              แต่เราก็อาจวางเป็นแนวกว้าง ๆ พอเป็นจุดเริ่มต้นได้ ด้วยว่าแหล่งที่ตั้งของไมโครโฟนย่อมมีผลต่อเสียงที่จะดังออกมาในด้านต่าง ๆ คือ
            1. คุณภาพของเสียง                  เสียงพูดหรือเสียงเครื่องดนตรี ที่ดังผ่านมาเหมือนของจริงมากน้อยเพียงใด
            2. ดุลยภาพของเสียง                สัดส่วนความดังของเสียงต่าง ๆ ทั้งเสียงพูดและเสียงเครื่องดนตรีเมื่อเทียบเคียงกัน
            3. ความใกล้  ไกลของเสียง         ระยะทางจากแหล่งเสียง
            4. การตัดแยกเสียง              รัศมีของไมโครโฟนที่สามารถเก็บเสียงเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่ต้องการ โดยไม่เก็บเสียงเครื่องดนตรีอื่นด้วย
หมายเหตุ      แต่เวลาลงมือทำงานจริง ๆ เรามักพบข้อที่ขัดแย้งกันเสมอ จึงจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนแก่กัน
1. คุณภาพ (Quality)
       เสียงพูด
                        โดยปกติคุณภาพของเสียงพูดจะออกมาเยี่ยม เมื่อวางไมโครโฟนตรงหน้าปากผู้พูด แต่ในวงการโทรทัศน์ภาพที่จะออกบนจอมักบังคับอยู่ ทำให้ต้องวางไมโครโฟนเฉียง ๆ คุณภาพของเสียงจึงออกมาอยู่ในระดับพอใช้ได้ ถ้าไมโครโฟนทำมุมกับแกนของเสียงไม่เกิน 45 องศา แต่อาจต้องใช้เครื่องกรองเสียงเข้าช่วย
                        หรือเราอาจใช้ไมโครโฟนห้อยประจำตัวก็ได้ ซึ่งให้คุณภาพเสียงดีพอประมาณ แต่ก็อาจต้องมีการปรับความถี่ของเสียงด้วย  คุณภาพเสียงจะดีถ้าไมโครโฟนอยู่ใกล้แกนของเสียง
            เครื่องดนตรี
                        เครื่องดนตรีมีมากมายหลายชนิด และวิธีใช้ก็ต่าง ๆ กัน จึงพอให้หลักกว้าง ๆ ดังนี้
            1. เครื่องดนตรีหลายชนิดกระจายเสียงซึ่งมีคุณภาพต่างกัน จากส่วนต่าง ๆ ของเครื่องดนตรี เช่น ไวโอลิน เชลโล เปียนโน และออร์แกน เป็นต้น
                        ถ้าเราวางไมโครโฟนชิดเครื่องดนตรีเหล่านี้ เราจะเก็บได้แต่เสียงใกล้ ๆ ตัวไมโครโฟนเท่านั้น เพราะฉะนั้นไมโครโฟนควรอยู่ห่างพอที่จะเห็น หรือได้เสียงดนตรีทั้งเครื่อง แต่จะทำให้เกิดปัญหาตัดแยกเสียง
            2. เครื่องเป่าลม เช่น ฟลุท ขลุ่ย แคลริเน็ท ปี่ และแซ็กโซโฟน ส่งเสียงออกทางตัวเครื่องและรูที่นิ้วขยับปิดเปิด
                        ฉะนั้นสมมุติว่าเราตั้งไมโครโฟนเข้าหาทางปากกระบอกของปี่แคลริเน็ท เราจะไม่ได้เสียงที่ดีเท่ากับถ้าเราวางไมโครโฟนให้  มองเห็น ปี่แคลริเน็ททั้งเลา
                        ถ้าเราวางไมโครโฟนชิดมาก จะทำให้เราได้เสียงต่าง ๆ ที่พึงปรารถนา เช่น เสียงกดปุ่มต่าง ๆ
            3. เครื่องแตรทองเหลืองส่วนใหญ่ ได้เสียงดีเวลาวางไมโครโฟนหันเข้าหากระบอกของแตร ยกเว้นแตร French Horn ซึ่งมีปากกระบอกยื่นไปข้างหลังผู้เป่า จะให้เสียงดีต้องมีฉากสะท้อนเสียงตั้งอยู่ข้างหลังผู้เป่าแตร และตั้งไมโครโฟนด้านหน้าผู้เป่า
                        พวกแตรทองเหลืองตัวใหญ่ ๆ เช่น Euphonium , Tuba กระจายเสียงออกได้ทุกทิศพอใช้ ยกเว้นเสียงในความถี่สูง

2. ดุลยภาพของเสียง (Balance)
              ปัญหาการจัดวางไมโครโฟนให้เกิดดุลยภาพของเสียง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราใช้ไมโครโฟนน้อยตัวเท่านั้น
                        ในกรณีที่มีไมโครโฟนให้ใช้ได้หลาย ๆ ตัว เราวางไมโครโฟนให้ใกล้เครื่องดนตรีให้มากที่สุด เพื่อตัดแยกเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละเครื่อง ส่วนการจัดเรื่องดุลยภาพของเสียง เราทำที่โต๊ะผสมเสียง หรือมิฉะนั้นเราอาจใช้ไมโครโฟนเพียงตัวเดียวสำหรับเก็บเสียงวงดุริยางค์ทั้งวง และอาจมีไมโครโฟนเสริมอีกเพียง 2-3 ตัว ถ้าคิดจะจัดไมโครโฟนอย่างในกรณีหลัง ที่ตั้งวางไมโครโฟนและมุมของไมโครโฟนยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้น ถ้าเราจะให้ได้สัดส่วนความดังของเสียงจากแต่ละส่วนของวงดุริยางค์ให้ถูกต้องและพอดี
3. ความใกล้-ไกลของเสียง (Perspective)
              การจัดให้เกิดความใกล้-ไกลของเสียง เป็นการจัดเรื่องดุลยภาพของเสียงอย่างหนึ่ง ในที่นี้เป็นการจัดดุลยภาพของเสียงระหว่างเสียงที่รับทางตรงกับเสียงที่ได้ทางอ้อม(หมายถึง เสียงสะท้อนหรือเสียงกังวาน)
                        ระบบไมโครโฟนกับการขยายเสียง มักจะเน้นการเปลี่ยนแปลงระยะความใกล้-ไกลของเสียง  แต่ในชีวิตจริงถ้าผู้ที่กำลังพูดอยู่ห่างเราประมาณ 1 เมตร เกิดเคลื่อนห่างเราไปอีก 1 เมตร เป็น 2 เมตร เราจะไม่รู้สึกเลยว่ามีความแตกต่างของเสียงเกิดขึ้น เราจะไม่รู้สึกว่าเสียงแผ่วลง แต่ถ้าเราทำอย่างเดียวกันต่อหน้าไมโครโฟน คือถอยห่างจากไมโครโฟนจาก 1 เมตร เป็น 2 เมตร เราจะจับความแตกต่างของเสียงได้ชัดทีเดียว
                        เวลาอยู่ในเครื่องส่งหรือบันทึกเสียงรายการบรรยายทางวิทยุ ถ้าเราพูดให้ห่างจากไมโครโฟนประมาณ 50-70 เซนติเมตร (1.5-2 ฟุต) ในระยะดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับว่าทำให้เกิดลักษณะเสียงใกล้-ไกลที่ใช้ได้ แต่สำหรับงานโทรทัศน์มีเรื่องภาพในจอคอยบังคับอยู่ ไมโครโฟนมักต้องอยู่ไกลกว่าระยะที่ว่านี้ ถ้าเราฟังแต่เสียงเฉย ๆ เราจะรู้สึกเชียวว่าเสียงอยู่ไกล แต่เผอิญเรามองเห็นผู้พูดอยู่ในจอใกล้ ๆ สมองจึงสามารถปรับให้เรายอมรับเสียงดังกล่าวได้
4. การตัดแยกของเสียง (Separation)
            เราสามารถตัดแยกเสียงได้ด้วยการจัดวางไมโครโฟนให้ถูกจุด
                        1. วางชิดแหล่งเสียง
                        2. จัดวางไมโครโฟนที่เลือกรับเสียงเป็นทิศทางให้ได้มุมที่เหมาะ เพื่อไม่ต้องรับเสียงที่ไม่ต้องการ
            ในเรื่องของการตัดแยกของเสียงนี้ บางครั้งต้องยอมผ่อนปรนกันบ้าง ถ้าเราต้องการรักษาคุณภาพเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นให้คล้ายเสียงจริง
            ยังมีวิธีการช่วยเรื่องตัดแยกของเสียงได้อีก ด้วยการใช้ห้องส่งหรือห้องบันทึกเสียงที่ไม่มีความก้อง ใช้เครื่องกรองเสียงช่วย จัดวางเครื่องดนตรีอย่างระมัดระวัง และการใช้ฉากAcoustic