Subscribe:

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การปรับคอมเพอร์เซอร์

COMPRESSOR/LIMITER

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมระดับความดังของเสียง ไม่ให้สัญญาณเสียงที่ออกไปมีความแรงมากเกินไป รวมทั้งทำหน้าที่อื่นๆด้วย ซึ่งหน้าที่การทำงานภายในเครื่องจะประกอบด้วยหน้าที่การทำงานหลัก 3 ส่วน ดังนี้

1. EXPANDER/GATE

ทำหน้าที่ขยายและเปิดประตู (GATE) ให้สัญญาณเข้ามาในเครื่องตามความต้องการของผู้ใช้ ว่าจะให้สัญญาณที่มีระดับความแรงมากน้อยเท่าไรที่จะให้เครื่องเริ่มทำงาน โดยมีปุ่มปรับต่างๆในส่วนนี้คือ

1.1 ปุ่ม THRESHOLD เป็นปุ่มปรับเพื่อให้เครื่องเริ่มทำงานและหยุดทำงาน หน่วยที่ปรับมีค่าเป็น dB เช่นเราปรับตั้งค่าไว้ที่ -45 dB หมายความว่า สัญญาณเสียงที่มีระดับสัญญาณต่ำกว่า -45dB เครื่องจะไม่ทำงาน ซึ่งจะทำให้ไม่มีสัญญาณใดๆผ่านเครื่องออกไปได้ และเครื่องจะเริ่มทำงานเมื่อระดับสัญญาณมีค่าสูงกว่า -45 dB ค่าที่เราตั้งเพื่อให้เครื่องเริ่มทำงานนี้เรียกว่า "ค่าเทรชโฮลด์"

อย่างไรก็ตามถ้าเราปรับไว้ที่ตำแหน่งต่ำสุดหรือ OFF หมายความว่า สัญญาณที่มีระดับสุดแค่ไหนก็ตามก็สามารถผ่านเข้าไปในเครื่องได้ นั่นคือสัญญาณจะผ่านเข้าไปได้ทั้งหมดตลอดเวลานั่นเอง

การจะตั้งค่าเทรชโฮลด์เป็นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้เครื่องนี้ควบคุมเสียงอะไร เช่น ถ้าต้องการควบคุมเสียงสำหรับไมค์นักร้อง หรือควบคุมเสียงทั้งระบบ ให้ตั้งค่านี้ที่จุดต่ำกว่า -45 dB เพราะต้องให้ระดับเสียงเบาๆออกไปได้ แต่ถ้าควบคุมเสียงของไมค์กลองกระเดื่อง กลองสแนร์ หรือไฮแฮต ก็ให้ตั้งค่าที่สูงกว่า -45 dB ซึ่งมีค่าไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความดังของกลองหรือเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ

1.2 ปุ่ม RELEASE เป็นปุ่มสำหรับหน่วงเวลา คือหลังจากที่ประตู GATE เปิดให้สัญญาณเข้ามาในเครื่องแล้ว ถ้าไม่มีสัญญาณใดๆเข้ามาอีกหรือสัญญาณมีค่าต่ำกว่าค่าเทรชโฮลด์ที่ตั้งไว้ เกทก็จะปิด ส่วนอื่นๆของเครื่องก็ไม่ทำงาน ระยะเวลาที่ใช้ในการปิดเกทอีกครั้งหลังจากไม่มีสัญญาณเข้ามาแล้วนั้นเราเรียกระยะเวลานี้ว่า "Release Time" ปุ่มที่ทำหน้าที่ปรับระยะเวลานี้คือปุ่ม RELEASE ค่าที่บอกไว้ที่เครื่องคือ Fast หมายความว่าเกทจะปิดอย่างรวดเร็วหลังจากหมดสัญญาณ และ Slow หมายความว่า เกทจะหน่วงเวลาไว้ระยะหนึ่งจึงค่อยปิด ระยะเวลาเร็วหรือช้าแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเราที่จะปรับตั้งค่าไว้

ค่า Release Time ของเกทนี้จะตั้งเป็นเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับเสียงที่เราใช้งาน เช่นไมค์สำหรับเสียงพูดหรือเสียงนักร้อง ให้ปรับไว้ที่ประมาณบ่ายสองโมง [Slow] เพราะเสียงคนเราจะมีปลายหางเสียงเช่น เสียงตัว สิ. ,สี่.. ,ซิ... ,ซี...เอส....เฮช....ทู...ฯลฯ.. เป็นต้น ปลายหางเสียงเหล่านี้จะได้ไม่ขาดหายไป

ส่วนการปรับเสียงจากเครื่องดนตรีเช่นเสียงกลองกระเดื่อง ถ้าเราไม่ต้องการเสียงกระพือหลังจากที่เราที่เหยียบลงไปที่หน้ากลองลูกแรก ก็ให้เวลาในการปิดเกทเร็วขึ้น Fast  หรือเสียงไฮแฮตถ้าเราไม่ต้องการให้มีปลายหางเสียงมากเกินไป ให้เสียงซิบๆๆ..ซี่ๆๆ..ซิบๆๆ...ดีขึ้นก็ให้ปิดเกทให้เร็วขึ้นเพื่อปลายหางเสียงที่เบาๆจะได้ถูกตัดออกไป

**อย่างไรก็ตามปุ่มRELEASE ในส่วนของภาคEXPANDER/GATE นี้ ในเครื่องบางรุ่นอาจจะไม่มี และบางรุ่นทำเป็นสวิทช์กดให้เลือก**

1.3 ปุ่ม RATIO เป็นปุ่มทำหน้าที่ปรับลดระดับเสียงลงเป็นอัตราส่วนของ dB เมื่อเทียบค่ากับ 1 เช่น 1:1หมายความว่าสัญญาณจะไม่ถูกลดระดับเลย , 2:1หมายความว่าสัญญาณที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าไหร่ก็ตามจะถูกทำให้ลดลงสองเท่า

**อย่างไรก็ตามปุ่ม RATIO นี้ในส่วนของภาคEXPANDER/GATE ในเครื่องบางรุ่นอาจจะไม่มี**

2. COMPRESSOR

ทำหน้าที่กดระดับสัญญาณให้ลดลงในอัตราส่วนตามค่าที่เราได้ปรับตั้งไว้ หน้าที่การทำงานของปุ่มปรับต่างๆในส่วนของภาคคอมเพรสเซอร์นี้มีดังนี้

2.1 ปุ่ม THRESHOLD เป็นปุ่มสำหรับตั้งค่าจุดเริ่มการกดสัญญาณ(จุดเทรชโฮลด์) เช่นเราตั้งค่าไว้ที่ 0 dB สัญญาณจะเริ่มลดลงที่ 0 dB และถ้าปรับตั้งไว้ที่ -10 dB ก็หมายความว่าสัญญาณเสียงจะเริ่มลดลงที่จุด -10 dB (ค่าติดลบมากเสียงจะลดลงมาก)

การลดลงของสัญญาณเสียงที่จุดเทรชโฮลด์นี้ ถ้าเป็นการลดลงอย่างรวดเร็วทันทีทันใด เราเรียกว่า ฮาร์ดนี (Hard-Knee) และถ้าให้เสียงที่ถูกกด(Compress) ค่อยๆลดลงเพื่อให้เสียงฟังดูนุ่มขึ้นเราเรียกว่า ซอฟต์นี(Soft-Knee) ซึ่งมีปุ่มให้กดเลือกใช้งานได้ แต่ปุ่มนี้จะมีชื่อเรียกทางการค้าที่แตกต่างกันไป เช่น

ยี่ห้อ dbx เรียกปุ่มนี้ว่า Over Easy

ยี่ห้อ Behringer เรียกปุ่มนี้ว่า Interactive Knee

การตั้งค่า THRESHOLD

เสียงดนตรี เสียงพูด และเสียงร้องเพลงทั่วๆไป จะตั้งค่าไว้ที่ 0 dB

เสียงร้องเพลงประเภท เฮฟวี่ ร็อค ฮิปพอฟ หรือเพลงวัยรุ่นประเภท แหกปากตะโกนร้อง ก็ตั้งไว้ที่ -10 dB ถึง -20 dB ให้ปรับหมุนฟังดูค่าที่เหมาะสมไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป

2.2 RATIO เป็นปุ่มสำหรับทำหน้าที่ปรับลดระดับเสียงลงมีค่าเป็นอัตราส่วนจำนวนเท่าต่อ 1 ซึ่งจะทำงานสัมพันธ์กับค่าเทรชโฮลด์ที่ตั้งไว้คือ

(1) เมื่อตั้งค่าอัตราส่วนไว้ที่ 1:1 สัญญาณด้านออกจะไม่ถูกกดลงเลย

(2) เมื่อตั้งค่าอัตราส่วนไว้ที่ 2:1 สัญญาณออกจะถูกกดให้ลดลง 2เท่า เมื่อสัญญาณเข้าเพิ่มขึ้น 1dB เช่นสัญญาณเข้า +20dB สัญญาณออกจะถูกกดให้ลดลงเหลือ +10dB

(3) เมื่อตั้งค่าอัตราส่วนไว้ที่ 4:1 สัญญาณออกจะถูกกดให้ลดลง 4เท่า เมื่อสัญญาณเข้าเพิ่มขึ้น 1dB เช่นสัญญาณเข้า +20dB สัญญาณออกจะถูกกดให้ลดลงเหลือ +5dB

(4) Infinite (หมุนตามเข็มนาฬิกาสุด) สัญญาณด้านออกจะถูกกดให้ลดลงเท่ากับค่าเทรชโฮลด์ที่ตั้งไว้

การตั้งค่า RATIO

เสียงพูด เสียงร้องเพลงทุกแบบ เสียงเครื่องดนตรีทั่วไป ปรับตั้งไว้ที่ 2:1 ถ้าตั้งให้ลดมากไปจะทำให้เหมือนเสียงเกิดอาการวูบวาบกระโดดไม่คงที่

2.3 ATTACT เป็นปุ่มสำหรับปรับตั้งค่าหน่วงเวลาของการเริ่มต้นกดสัญญาณ(compress) จะช่วยทำให้เสียงมีความหนักแน่นดีขึ้น มีหน่วยเวลาเป็น มิลลิวินาที(mSEC) เสียงพูด เสียงเพลงดนตรีทั่วไป ให้ตั้งค่าไว้ที่ประมาณ 40-50 mSEC เพลงคลาสสิค หรือเพลงที่มีความฉับไวของดนตรี ให้ตั้งไว้ที่ประมาณ 25-30 mSEC

2.4 RELEASE เป็นปุ่มสำหรับปรับตั้งค่าหน่วงเวลาช่วงหยุดการกดสัญญาณ จะทำให้น้ำเสียงนุ่มน่าฟังขึ้น มีหน่วยเวลาเป็นวินาที (SEC) เสียงพูด เสียงดนตรีทั่วไปให้ตั้งไว้ที่ 1.5-2 SEC

2.5 OUTPUT GAIN เป็นปุ่มปรับลดหรือเพิ่มระดับความแรงของสัญญาณด้านขาออกของเครื่องให้มีค่าลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ โดยมีค่าปรับได้ตั้งแต่ -20dB ถึง +20dB ในการใช้งานปกติให้ปรับค่าไว้ที่ 0 dB

3. LIMITER

ลิมิตเตอร์ทำหน้าที่รักษาระดับสัญญาณด้านขาออกของเครื่องให้มีความแรงสูงสุดได้ไม่เกินค่าที่ตั้งไว้ เช่นตั้งไว้ที่ 0dB สัญญาณขาออกก็จะออกได้สูงสุดไม่เกิน 0dB หรือตั้งไว้ที่ +5dB สัญญาณขาออกก็จะออกได้สูงสุดไม่เกิน +5dB เป็นต้น

การตั้งค่าLIMITER

เสียงพูด เสียงร้องเพลงทุกประเภท ให้ตั้งค่าไว้ที่ 0dB

เสียงดนตรี กลองกระเดื่อง กีต้าร์เบส ให้ตั้งค่าไว้ที่ +5dB ถึง +10dB

เสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ ตั้งค่าไว้ที่ 0dB

การต่อใช้งานเครื่อง COMPRESSOR

การต่อใช้งานเครื่องคอมเพรสเซอร์สามารถต่อใช้งาน ตามลักษณะประเภทของงานและตามความต้องการของผู้ใช้ได้ 4 แบบ ดังนี้

1. การต่อแบบ Channel Insert

การต่อแบบนี้เป็นการต่อใช้งานที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้เราสามารถปรับแต่งเสียงของคอมเพรสเซอร์ แต่ละแชลแนลได้อย่างอิสระ ทั้งเสียงจากไมโครโฟนสำหรับนักร้อง และเสียงจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่แยกจากกัน

2. การต่อแบบ Group Insert

การต่อแบบนี้จะใช้คอมเพรสเซอร์ จำนวน 2 เครื่อง [4Ch] ในกรณีที่มิกเซอร์มี 4 กรุ๊ป คือ Group 1-2-3-4 ก็ให้เราจัดกรุ๊ป 1-2 เป็น ไมค์เสียงร้องทั้งหมด และกรุ๊ป 3-4 เป็นเสียงดนตรีทั้งหมด

3. การต่อแบบ Mix Insert

การต่อแบบนี้ใช้คอมเพรสเซอร์ 1เครื่อง (2Ch) ต่อที่ตำแหน่ง Mix Insert ของเครื่องมิกเซอร์ เป็นการต่อใช้งานเพื่อควบคุมเสียงทั้งหมดที่ถูกต่อเข้าที่มิกซ์ การปรับแต่งเสียงก็จะปรับโดยรวมๆกลางๆ

4. การต่อแบบ MIXER to COMPRESSOR

การต่อแบบนี้เป็นการต่อแบบที่ง่าย สะดวก และประหยัดที่สุด เพราะเป็นการต่อที่นำเอาสัญญาณเอาท์พุทจากมิกเซอร์มาเข้าอินพุทของเครื่องคอมเพรสเซอร์ และออกจากคอมเพรสเซอร์ไปเข้าเครื่องอีควอไลเซอร์

การปรับแต่งเสียงก็เป็นการปรับแบบรวมๆกลางๆ เพราะทุกเสียงผ่านคอมเพรสเซอร์ทั้งหมด


เล่าเรื่อง compressor
...........พูดเปรียบเทียบกันง่าย ๆ compressor เป็นอุปกรณ์ที่ทำก๋วยจั๊บน้ำใส.....ให้เป็นก๋วยจั๊บน้ำข้น......(ฮาครับ....มีคนเปรียบเทียบอย่างนี้จริง ๆ )
.......จำเป็นต้องมีไหม...หลายคนสอบถาม.....จำเป็นครับ....ไม่งั้นเขาคงไม่ทำขายหรอก...(โอ...ช่างเป็นคำตอบที่มักง่าย..จริง ๆ )
........แต่ถ้ามีแล้ว...ใช้ไม่ถูก..ก็อย่ามีดีกว่าครับ.....บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้เรื่อง compressor เบื้องต้น...แก่ผู้ที่ยังไม่รู้บางแง่...บางมุมของ compressor
....ส่วนท่านที่รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว...ก็ผ่าน....หรือจะแบ่งปันในส่วนลึก ๆ ของcompressor บ้างก็ได้ครับ
........ในส่วนแรก..ที่ปุ่มปรับที่เขียนว่า ratio (ในวงเหลืองรูปล่าง) หมายถึงการกำหนดอัตราส่วนในการ compress (บีบอัดสัญญาณเสียง)
.....ส่วนรูปบน.....เป็นการแสดงภาพการบีบอัด...รูปซ้ายมือสุด...เป็นการบีบอัดในอัตราส่วน 1.5 ต่อ 1 ...สังเกตสัญญาณที่เกินกว่าเกณฑ์(เส้นสีดำ)...จะถูกกดลงมานิดหนึ่ง(ในวงสีแดง)
.....ในรูปกลาง...เป็นการบีบอัดในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ...สังเกตสัญญาณที่เกินกว่าเกณฑ์(เส้นสีดำ)...จะถูกกดลงมา..มากหน่อย(ในวงสีชมพู)
.....ในรูปขวามือ...เป็นการบีบอัดในอัตราส่วน ต่อ 1(infinity) ...สังเกตสัญญาณที่เกินกว่าเกณฑ์(เส้นสีดำ)...จะถูกกดลงมา..มากที่สุด(ในวงสีน้ำเงิน)
……..นี่เป็นเบื้องต้น....ที่นำเสนอท่าน.....ในการใช้ compressor ของท่านให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ
......เวลาหมดครับ.....พบกับคราวหน้า.....ขอให้มีงานท่วมเดือนทุกวงครับ...สาธุ



…..threshold (วงสีชมพู)เป็นการปรับค่าอ้างอิงเพื่อให้เครื่องทำงานตามค่าอ้างอิงตัวนี้
.....จากรูปครับ....ปุ่มปรับ threshold ถ้าเราปรับค่านี่ให้สูง(ค่อนมาทาง+10...ถึง+20)จะเป็นการกำหนดให้เครื่อง ตั้งค่าเกณฑ์(เหมือนตั้งกำแพง)ไว้สูง...สังเกตเส้นที่ลูกศรสีเขียวชี้ครับ.....เส้นนี้จะเป็นค่าที่ไว้เปรียบเทียบกับสัญญาณเสียง(สัญญาณไฟฟ้า)ที่เข้ามาว่าเกินเกณฑ์นี้ไหม......ถ้าเกินเส้นนี้ กระบวนการ compressor จะทำงานครับ......จะกด...จะดันมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับค่า ratio ที่เราตั้งไว้(ในวามเห็นที่แล้ว)......แต่สรุปแล้วเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสัญญาณไฟฟ้า(ส่วนที่เกินเกณฑ์)ที่ออกมาก็จะไม่ต่ำกว่าเส้น threshold ครับ
..........ส่วนกรณีที่เราตั้งค่า threshold ไว้ต่ำ ๆ (ค่อนมาทาง -10...-20...-40...)เกณฑ์(กำแพง)ก็เตี้ยลงมา(รูปด้านขวามือครับ)..........ศรชี้สีฟ้านั่นแหละครับ
......เมื่อเกณฑ์ในการอ้างอิงเตี้ย......สัญญาณเสียงที่เป็นสัญญาณไฟฟ้าค่าน้อย ๆ (เบา ๆ)ก็ต้องถูกเข้ากระบวนการ compress ด้วย.....มากน้อยแล้วแต่ค่า ratio ที่เราตั้งไว้เช่นกัน
...........แล้วจะตั้งค่าไหนดีล่ะ..............อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับเครื่องมือของคุณ.......set threshold ต่ำไปเสียงออกมาก็เบา........สูงไปก็...ดังเกิน...ลำโพงขาด....แอมป์ไหม้.......เสียงแตก....เสียงบี้...พร่า........
........เอางี้.....เริ่มจากค่าต่ำ ๆ ก่อน.....แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนไม่เกิดอาการที่เขียนมาบรรทัดที่แล้ว....สำหรับค่า ratio ก็ลองตระโกนดัง ๆ ใส่ mic ...หรืออัดเครื่องดนตรีแรง ๆ ให้มันทำการลดสัญญาณ.....แล้วสังเกตผลรวมที่ mixer ว่ามัน peak หรือไม่.....ปรับแต่งที่ละนิด เดี๋ยวก็ได้ค่าที่เหมาะสมกับเครื่องของเราเองหละครับ...ขอย้ำนะครับว่า....เป็นค่าที่เหมาะสมกับเครื่องของเรา....จบครับ
......คราวหน้าก็ถึงเรื่องปุ่มปรับ ATTACK(วงสีแดง) และ RELEASE(วงสีน้ำเงิน)…ครับ...รอนิดนึง



compressor ภาค 2
........คราวที่แล้วผมเขียนเรื่องการปรับปุ่ม ratio ของ compressor ตั้งแต่ความเห็นที่ 1 โน่น(อื้อฮือ...นานจนลืมไปแล้ว)...ว่าการปรับค่าratio มีผลอย่างไรต่อการทำงาน
.......วันนี้ผมนำรูปคลื่นเสียงจริง ๆ ที่ยังไม่ถูกบีบอัดโดยกระบวนการ compressor หรือ limiter ให้คลื่นเสียงที่เกินกว่าเกณฑ์ที่เราตั้งไว้..(รูปบน...ในวงสีเขียวทั้งบนและล่าง....คลื่นเสียงจะมีทั้งบนและล่าง....เรียกว่าคลื่น + และคลื่น -)....จะเห็นว่ามีส่วนที่เกินกว่าเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้(สมมุติว่าเราตั้งเกณฑ์ที่...ไม่ให้เกิน 50)
......รูปล่างครับ....เมื่อคลื่นเสียงชุดนี้ผ่านกระบวนการแล้ว....จะเห็นว่าในส่วนที่เคยเกินเกณฑ์ 50จะถูกบีบอัด...ลดทอนจนไม่เกินเกณฑ์ที่เราตั้งไว้.......
......ประโยชน์ที่ได้ก็คือเสียงที่จะออกไปที่ลำโพงจะไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้.....ทำให้เสียงที่ออกมาไม่แตกพร่า....หรือลำโพงขาด....แอมป์ไหม้
....และถ้าเป็นวงจรที่ถูกออกแบบมาดี ๆ หน่อยเสียงที่ผ่านกระบวนการนี้จะเป็นเสียงที่ดีขึ้น...หนักแน่นขึ้น..นิดหน่อย...ขอย้ำว่านิดหน่อยนะครับ.............หรือที่ภาษานักดนตรีเรียกว่า...เสียงมันเหนียวขึ้น



..........มาว่ากันถึงเรื่องปุ่มปรับ attack ที่ compressor
......จากรูปด้านบนเป็นปุ่มปรับค่า compressor ของ behringer ปุ่มปรับที่ชื่อว่า ATTACK ..(วงสีแดงลูกศรแดง)..เป็นการปรับแต่งให้กระบวนการบีบอัดทำงานในทันทีทันใดที่...มีการตรวจพบเสียงที่เกินกว่าเกณฑ์......หรือจะให้เครื่องยังไม่ทำงานในทันที..(หน่วงเวลาการทำงานออกไปอีก)การหน่วงเวลาที่ให้มาหน่วงเวลาได้ถึง..300 msec..ในรุ่นนี้
......สรุปว่าปุ่ม attack มีไว้เพื่อกำหนดให้กระบวนการบีบอัดสัญญาณ...ทำงานในทันที....หรือไม่ทำงานในทันที...โดยยืดเวลาออกไป....และยืดการทำงานออกไป..เท่าไร
.......จากรูปล่าง....ถ้าเราปรับ attack ค่าต่ำ ๆ (ทำงานเร็ว ๆ ที่ตรวจพบ).... ส่วนเกินของเสียงในพื้นที่วงแดงจะถูกบีบอัด
..........ถ้าค่า attack ค่ากลาง ๆ ....ส่วนเกินของเสียงในพื้นที่วงสีน้ำเงิน..จะถูกบีบอัด
..........ถ้าค่า attack ตั้งค่าไว้สูง ๆ (หน่วงเวลามาก ๆ )....ส่วนเกินของเสียงในพื้นที่วงสีเหลืองจะถูกบีบอัด
……การบีบอัดและการลดทอนจะรายงานให้ทราบโดยแสดงออกมาเป็นแถบไฟในกรอบเหลี่ยมสีชมพู...รูปบน
......ลอง ๆ ทำความเข้าใจดูนะครับ.....จบเรื่อง attack
.....ขึ้นเรื่อง release
.....release เป็นปุ่มปรับเพื่อให้กระบวนการบีบอัดหยุดทันทีที่หมดเสียงที่เกินเกณฑ์......หรือจะให้เครื่องหน่วงเวลาการบีบอัดออกไปอีก......สังเกตได้ง่าย ๆ จากแถบไฟในกรอบเหลี่ยมสีชมพู(GAIN REDUCTION)......ถ้าเราปรับ release ไว้ที่ค่าต่ำ ๆ จะหมายถึง...เมื่อบีบอัดแล้ว...หยุดการบีบอัดทันที่....สังเกตแถบไฟจะแสดง...และจะหดหายไปในทันที
......ถ้าเราปรับค่า release ไว้สูง ๆ .....สังเกตแถบไฟที่ขึ้นมาตอนเกิดการบีบอัด ...จะไม่ลดลงในทันที.......แต่จะค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ (ช้ามาก...ช้าน้อย...ขึ้นอยู่กับค่า release)...
........แล้วจะปรับอย่างไรล่ะ....ให้เหมาะสม.....อันนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นบนเวที..ขณะนั้น......เสียงนักร้องที่กระแทกกระทั้น....ความเร็วของเพลง....ชนิดของเครื่องดนตรีที่จะทำการ compress .......ความไวของไมโครโฟน........และอื่นๆ...เป็นองค์ประกอบ
.....คงต้องแนะนำว่าต้องพึ่งตัวเองแล้วละครับ...ในการปรับแต่ง.....แต่งให้เหมาะสมกับเครื่องบนเวทีของคุณนั่นแหละเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด...โดยอาศัยหลักการทำงานที่ผมเขียน...มาเป็นหลักเกณฑ์ในการปรับแต่ง
..........ลองดูนะครับ