Subscribe:

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เสียง จี่ ฮัม ในระบบเสียง แก้อย่างไร





แนวทางในการลดและป้องกันเสียงฮัมในระบบเสียงPA
เสียงฮัม(hum) เสียงจี่รบกวน เสียงสกปรกต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบเสียงถือเป็นลักษณะเสียงที่เรามักคุ้นเคยกันเสมอในเรื่องของระบบเสียง เสียงสกปรกเหล่านี้มักมีสาเหตุต่างๆมากมายที่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา และถือว่าเป็นปัญหาคาใจผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานระบบเสียงอยู่เสมอเสมือนหนึ่งเป็นเงาก็ว่าได้ มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบเสียงมีปัญหาต่อการรับฟังอยู่เป็นประจำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเสียงPAที่มีกำลังการกระจายเสียงที่ดังมาก ลองนึกภาพดูว่าหากเสียงที่ดังมากๆและมีเสียงรบกวนแบบต่างๆปนเข้ามา ย่อมจะทำให้เสียงที่ได้ยินไม่น่าฟังอย่างยิ่ง
การป้องกันระบบเสียงรบกวนไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตามย่อมมีสาเหตุทั้งสิ้น สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากระบบเครื่องมือต่างๆรวมไปจนถึงระบบสายสัญญาณทั้งหมดที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเสียงรบกวนต่างๆมักมาจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานบ้าง ความเก่าและเสื่อมโทรมของอุปกรณ์บ้าง สายสัญญาณที่มีการเข้าขั้วที่ไม่ได้มาตราฐาน การบัดกรีที่ขาดความชำนาญ สาเหตุเบื้องต้นที่ยกตัวอย่างมานี้ล้วนเป็นหนึ่งในหลายๆสาเหตุของปัญหาในเรื่องของเสียงรบกวน
ดังนั้นปัญหาต่างๆย่อมจะไม่เกิดขึ้นหากเรามาทำความเข้าใจและหาทางป้องกันเสียแต่เนิ่นๆเสียก่อน ซึ่งหนทางในการป้องกันระบบเสียงไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างไร อีกทั้งยังเป็นแนวทางง่ายๆที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองและให้ผลดีตามมาตรฐานสากลอีกด้วย
1. พยายามต่อพ่วงระบบไฟฟ้าจากจุดๆเดียว
การต่อพ่วงระบบไฟฟ้าออกมาจากชุดจ่ายไฟเพียงจุดๆเดียว เช่น ดึงกระแสไฟฟ้าที่มาจากตู้จ่ายไฟฟ้าหรือเครื่องปั่นไฟฟ้าแล้วส่งต่อไปยังระบบเสียงทั้งระบบจะช่วยลดปัญหาเสียงฮัมและเสียงรบกวนต่างๆได้ดี เนื่องจากว่าระบบไฟฟ้าที่ถูกดึงเอาออกไปใช้งานที่มาจากจุดเดียวจะใช้ระบบสายดินจากจุดเดียวกันเท่านั้น และระบบสายดินที่ดึงออกมาจากจุดต่อไฟฟ้าหลักก็ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าระบบดิน(ground)ทั้งระบบจะมาลงที่จุดๆเดียวกันอย่างแท้จริง
ไม่แนะนำให้ต่อพ่วงระบบไฟฟ้ามาจากจุดเต้าไฟฟ้าหลายๆจุดเพื่อมาใช้งานในระบบเสียงทั้งระบบ ยกตัวอย่างเช่น มิกเซอร์ต่อพ่วงไฟฟ้ามาจากเต้าไฟฟ้าหลักตัวที่หนึ่งจากมุมห้อง ส่วนเครื่องขยายเสียงไปต่อไฟฟ้ามาจากเต้าไฟฟ้าจากอีกส่วนหนึ่งของมุมห้องซึ่งเป็นคนละจุดกัน ซึ่งการต่อพ่วงในลักษณะนี้นั้นจะมีผลเสียมากกว่าผลดีและมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงฮัมหรือเสียงรบกวนต่างๆได้
ทั้งนี้เนื่องจากว่าระบบดินนั้นไม่ได้ลงที่จุดๆเดียวกัน ทำให้เกิดการร่วมของระบบดิน (ground loop) ที่แตกต่างๆกันซึ่งไม่เป็นผลดีซักเท่าไหร่ในเรื่องของระบบเสียง ต่างจากการต่อพ่วงดึงกระแสไฟฟ้าจากจุดหลักจุดๆเดียวเพื่อป้อนสู่เครื่องเสียงทั้งระบบซึ่งเราแน่ใจได้เลยว่าระบบดินจะต้องเป็นจุดๆเดียวกันอยู่แล้วนั่นเอง
2. ต่อพ่วงระบบไฟที่เต้าไฟเฉพาะอุปกรณ์เสียงเท่านั้น
สำหรับเต้าปลั๊กไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าที่ดึงมาจากสายเมนไฟที่จะมารองรับสายไฟจากเครื่องมือต่างๆ เช่น มิกเซอร์ เครื่องขยายเสียง เครื่องปรุงแต่งเสียงต่างๆไปจนถึงเครื่องปรุงแต่งสัญญาณเสียง ต้องต่อที่ชุดเต้าปลั๊กไฟที่มาจากชุดเดียวกันเท่านั้น และห้ามนำเอาเครื่องมืออื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือในระบบออดิโอมาต่อพ่วงอย่างเด็ดขาด เช่น หม้อต้มน้ำ พัดลม เป็นต้น เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงได้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องมักจะสร้างสัญญาณรบกวนสกปรกออกมาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
การต่อพ่วงแบบแยกในลักษณะนี้สามารถลดและป้องกันเสียงรบกวนหรือเสียงฮัมที่หาสาเหตุไม่ได้ในเบื้องต้นได้ดีในระดับหนึ่งซึ่งควรทำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากว่าอุปกรณ์ในระบบออดิโอจะมีการออกแบบวงจรในการป้องกันตัวเองมาดีอยู่แล้ว การต่อพ่วงเอาอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ออดิโอมาใช้เต้าปลั๊กไฟเดียวกัน ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดเสียงสกปรกได้ไม่มากก็น้อยและบ่อยครั้งวงจรกรองกระแสไฟฟ้าในตัวเครื่องมือออดิโอเองก็เอาไม่อยู่หากกระแสไฟฟ้าที่ใช้อยู่มีอัตราการปนเปื้อนของเสียงสกปรกมากจนเกินไป
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ควรหลีกเลี่ยงในการต่อพ่วงใช้งานร่วมกับปลั๊กไฟฟ้าของระบบออดิโอได้แก่ หลอดนีออน เครื่องควบคุมแสงสว่างหรือที่เรียกว่า ดิมเมอร์(dimmer) คอมพิวเตอร์ รวมไปจนถึงเครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และทีวี
3.พยายามต่อระบบในรูปแบบ Balanced
ในระบบของสายสัญญาณนั้น ระบบการต่อแบบที่เรียกว่า บาล๊านซ์(balanced)ถือได้ว่าเป็นระบบการต่อที่ดีที่สุดและสามารถป้องกันเสียงรบกวนได้ดีที่สุดเช่นกัน ดังนั้นพยายามต่อระบบสายสัญญาณของระบบออดิโอทั้งระบบเป็นแบบ บาล๊านซ์(balanced) และพยายามหลีกเลี่ยงการต่อด้วยระบบที่เรียกว่า อันบาล๊านซ์(unbalanced)โดยเด็ดขาด เนื่องจากคุณภาพและความสามารถในการลดทอนเสียงรบกวนทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับระบบบาล๊านซ์(balanced)
ในระบบบาล๊านซ์(balanced)ลักษณะหัวขั้วที่ใช้ต่อพ่วงสัญญาณก็ได้แก่ หัวแจ็คแบบ XLR , TRS (โฟนแจ๊ค) ต่างจากระบบแบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)ที่หัวขั้นจะเป็นแบบ RCA , TS (แจ็คกีต้าร์)
ทำไมระบบการต่อแบบบาล๊านซ์(balanced)จึงดีกว่าการต่อสัญญาณในระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)และเป็นที่นิยมกันในหมู่นักออดิโอที่เน้นเรื่องความสะอาดของเสียงและความเงียบ ซึ่งก็ต้องยกความดีให้กับการออกแบบทางเดินของระบบสัญญาณที่เน้นให้สัญญาณที่เป็นgroundออกอิสระออกมาจากสายสัญญาณเส้นอื่น จึงทำให้สายสัญญาณในระบบบาล๊านซ์(balanced)มีถึงสามเส้นด้วยกัน ซึ่งแยกรายละเอียดออกเป็น ground , + , - นั่นเอง
ในขณะเดียวกันสำหรับสายสัญญาณที่เป็นระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)จะมีสายสัญญาณเพียงสองเส้นเท่านั้นซึ่งก็ได้แก่ ground , + ซึ่งส่วนสายสัญญาณที่ขาดหายไปก็คือ –(ลบ)
ตรงนี้เราจะเห็นข้อแตกต่างกันบ้างแล้วโดยเฉพาะจำนวนของสายสัญญาณ และจำนวนที่มีมากกว่าของระบบแบบบาล๊านซ์(balanced)นี่เองจึงเป็นสาเหตุให้ความสามารถในการถ่ายโอนสัญญาณมีคุณภาพสูงกว่ามากและสามารถลดเสียงรบกวนที่ปนเปื้อนมากับสัญญาณอยู่ตลอดเวลาออกไปได้ดีในระดับหนึ่ง แต่สำหรับระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)จะมีปัญหาตรงที่ว่าจำนวนสายสัญญาณมีน้อยกว่าถึงหนึ่งเส้น นั่นก็คือสายสัญญาณที่เป็นขั้วลบไม่มีตรงจุดนี้จึงทำให้การแยกเสียงรบกวนทำได้ไม่ดีเพราะเสียงรบกวนยังคงปนเข้ามากับสัญญาณอยู่เช่นเดิมโดยไม่มีการแยกออกไปแต่อย่างไร
เมื่อระบบเกิดเสียงรบกวนขึ้นเมื่อไหร่สัญญาณที่ต่อในระบบระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)มักจะมีปัญหามากที่สุดโดยเฉพาะเสียงฮัมและเสียงจี่ต่างๆ ซึ่งมักจะแก้ไขลำบาก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำระบบแบบอันบาล๊านซ์(unbalanced) สำหรับระบบPAและถ้าจำเป็นต้องต่อพ่วงระบบที่มีแหล่งต้นสัญญาณมาจากระบบแบบอันบาล๊านซ์(unbalanced) อย่างเช่น กีต้าร์ คีย์บอร์ด เบส เครื่องเล่นซีดี เป็นต้น แหล่งสัญญาณเหล่านี้มักจะเป็นระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)ส่วนมาก เราจำเป็นต้องปรับสัญญาณเหล่านี้ให้กลับมาเป็นระบบบาล๊านซ์(balanced)เพื่อให้เข้าได้กับระบบที่ทำเป็นแบบบาล๊านซ์(balanced)อยู่แล้วทั้งหมด ซึ่งการปรับนี้ทำได้ด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ดีไอ (D.I box) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับงานระบบPAที่ต้องมีไว้ใช้เป็นอย่างยิ่ง
4. อย่าต่อสายGroundที่ตัวหัวXLR
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าในระบบการต่อหัวแบบXLRนั้นจะมีสามขั้วอยู่แล้วคือ ground , + , - ซึ่งสามขั้วของหัวXLRก็ถือได้ว่าเพียงพอต่อการป้องกันเสียงรบกวนต่างๆดีที่สุดอยู่แล้ว แต่มักจะมีผู้เข้าใจผิดที่มักจะต่อขั้วสายดิน(ground)ไปบัดกรีติดกับตัวหัวปลั๊กXLRโดยตรง โดยเข้าใจว่าสามารถลดเสียงรบกวนได้ด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะการต่อground ที่ทั้งตัวขั้วในXLRและในขณะเดียวกันก็ต่อที่ตัวโลหะของXLRที่ปลอก ถือว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการgroundวนไปวนมาที่เรียกว่า ground loop ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงฮัมหรือเสียงรบกวนอื่นๆตามมาเช่นกันและยังสร้างปัญหาไฟดูดอีกด้วย
ต้องเข้าใจด้วยว่าหัวขั้วแบบXLRถูกออกแบบมาให้มีสามขาและรองรับการต่อสายแบบมาตรฐานสากลอยู่แล้ว การพยายามต่อด้วยวิธีการอื่นๆหรือปรับปรุงด้วยวิธีการต่อแบบอื่นๆย่อมไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องนักและมักจะส่งผลกับปัญหาที่ต้องตามแก้ไขอยู่บ่อยๆโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไม่สามารถไล่เช็คตรวจสอบระบบได้ง่ายๆตามความเป็นจริง
5. ระยะสายมีผลต่อคุณภาพเสียง
ขอเน้นว่าระยะสายสัญญาณยิ่งยาวยิ่งทำให้คุณภาพเสียงลดลงเรื่อยๆเนื่องจากค่าความต้านทานที่เพิ่มตามระยะทางความยาวของสายสัญญาณ การต่อใช้งานสายสัญญาณในระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced) พยายามให้สายสัญญาณสั้นมากที่สุดไม่กี่เมตรย่อมเป็นผลดีมากกว่าสายที่ยาวเป็นสิบเมตรที่ทำให้คุณภาพเสียงลดลงอย่างมาก ซึ่งจะแตกต่างจากสายสัญญาณในการต่อแบบบาล๊านซ์(balanced)ที่สามารถลากสายสัญญาณได้ยาวเป็นสิบเมตรโดยยังไม่มีเสียงรบกวนตามมารวมถึงคุณภาพเสียงที่ยังดีอยู่ด้วย
6. พยายามวางสายสัญญาณให้ห่างจากสายไฟฟ้า
กฎข้อนี้ถือเป็นมาตรฐานของการวางระบบสายสัญญาณที่ดีและนิยมทำกันทั่วไป ความพยายามในการแยกสายสัญญาณให้ออกห่างมาจากสายไฟฟ้านั้นก็เพราะว่า ในสายไฟฟ้ามีสนามแม่เหล็กกระจายออกมาโดยธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว ลองจินตนาการเอาเองว่าในขณะที่สายไฟฟ้ากระจายสนามแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ในขณะเดียวกันสายสัญญาณระบบเสียงก็วางทับซ้อนกันอยู่ด้วย สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่แพร่กระจายออกมาตลอดเวลานั้นก็ย่อมต้องกวนเข้าไปในระบบสายสัญญาณเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากว่าระบบสายสัญญาณถูกต่อระบบมาอย่างถูกต้องและอยู่ในสภาพที่ดีพร้อมอาการกวนที่เกิดจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสายไฟฟ้าก็ย่อมไม่เกิดขึ้น แต่ในทางกลับกันหากวันใดที่ระบบสายสัญญาณนั้นๆเกิดสภาพชำรุดทรุดโทรมขึ้นมา โอกาสที่กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าจะเข้าไปกวนในระบบสายสัญญาณก็ย่อมสามารถเกิดได้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสายสัญญาณของระบบเสียงและสายสัญญาณของระบบไฟฟ้าทับซ้อนกันอยู่นั่นเอง
ดังนั้นการวางสายสัญญาณไฟฟ้าให้ออกห่างจากสายสัญญาณระบบเสียงย่อมเป็นเรื่องที่ดีและเป็นการสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเราสามารถลดโอกาสการกวนกันของสัญญาณแม่เหล็กได้อย่างแน่นอน
เช่นกันอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงให้มากๆก็คือหม้อแปลงไฟฟ้านั่นเอง หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่กระจายสนามแม่เหล็กออกมาได้อย่างมากและในขณะเดียวกันก็แรงมากพอที่จะสามารถกวนเข้าสู่ระบบเสียงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย ขอแนะนำว่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำสายสัญญาณระบบเสียงเข้าใกล้หรือทับด้วยหม้อแปลงเป็นดีที่สุด
มีข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่งว่า ในกรณีที่สายสัญญาณระบบเสียงจำเป็นต้องผ่านสายสัญญาณไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พยายามให้สายสัญญาณเสียงพาดในในลักษณะตั้งฉากซึ่งก็คือ90องศานั่นเองหากเปรียบเป็นภาพก็เหมือนกับวางในลักษณะรูปกากกะบาทนั่นเอง อย่าพยายามวางสายสัญญาณเสียงทอดยาวไปตามสายไฟฟ้าจะดีที่สุด
7. จัดการกับระบบดินในขณะต่อพ่วง
ระบบดินของระบบเสียงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนพอสมควรซึ่งระบบดินที่ดีสามารถลดปัญหาเสียงรบกวนร้อยแปดได้อย่างดี การจัดการระบบดินในกรณีที่ต่อพ่วงสัญญาณระบบเสียงมาจากอุปกรณ์ระบบเสียงชุดอื่นนอกเหนือจากชุดที่เราทำงานอยู่ ยกตัวอย่างเช่น
ในกรณีที่เราติดตั้งระบบPAเรียบร้อยแล้วมีอุปกรณ์อย่างอื่นมาขอต่อพ่วงสัญญาณจากเรา เช่น ระบบภาพต้องการเสียงเพื่อป้อนเข้าสู่กล้อง หรือ มิกเซอร์ตัวอื่นที่ต้องการแยกสัญญาณออกจากชุดของเราเพื่อนำไปบันทึกหรือส่งต่อไปยังห้องอื่นๆ ในหลายๆครั้งสามารถสร้างปัญหาอย่างน่าปวดหัวให้ เช่น เสียงจี่ เสียงฮัม เป็นต้น ซึ่งจะเกิดเมื่อต่อสัญญาณเรียบร้อยแต่พอเอาสายสัญญาณที่มาขอต่อพ่วงออกจากระบบของเรากลับหาย
ปัญหาดังกล่าวคิดว่าผู้ที่อยู่ในวงการPAมักจะพบเจออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดมักเกิดจากระบบดินที่ไม่ตรงกันซึ่งเกิดจากเครื่องมือระบบเสียงทั้งสองชุดใช้แหล่งไฟที่ต่างกัน หมายความว่าไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามาจากปลั๊กจ่ายไฟชุดเดียวกัน ลักษณะนี้มักจะก่อปัญหาเสียงจี่ เสียงฮัมได้ง่ายมาก
ดังนั้นการแก้ปัญหาจำเป็นต้องจัดการกับระบบทางเดินของระบบดินให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อน ซึ่งโดยมากจะนิยมลอยขาดินไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งโดยไม่ต่อระบบดินแบบครบวงจร เช่น การปลดขาที่เป็นดินออกเพื่อลดการเกิดอาการที่เรียกว่าการวนไปมาของระบบดิน(ground loop) จุดที่ควรลอยระบบดินเอาไว้ขอแนะนำปลายทางของสัญญาณจะดีมากนั่นคือลอยขาระบบดินที่เครื่องขยายเสียง(signal input)
สำหรับวิธีหนึ่งที่นิยมใช้งานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคือใช้เครื่องมือที่เรียกว่า D.I box ซึ่งเครื่องมือนี้จะมีสวิทช์ที่สามารถลอยขากราวด์(ดิน)ได้โดยไม่ต้องตัดขากราวน์ออกจากสายให้ยุ่งยากแต่อย่างไร
8. พยายามแยกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถก่อให้เกิดเสียงรบกวน
อุปกรณ์ที่สามารถสร้างเสียงรบกวนได้ง่ายเมื่ออยู่ใกล้มิกเซอร์หรือระบบเสียงอย่างเช่นหม้อแปลงไฟฟ้า(transformers)จะมีอัตราการกวนของสนามแม่เหล็กสูงมักก่อให้เกิดเสียงฮัม(hum)ได้ง่าย จอคอมพิวเตอร์มอนิเตอร์ มอเตอร์ไฟฟ้า หลอดนีออนหรือสายไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้พยายามแยกสายสัญญาณให้ห่างจากเครื่องมือระบบเสียงจะดีที่สุด
9. อย่าขดสายสัญญาณในรูปวงกลม
ในกรณีสายสัญญาณมีความยาวเหลือเมื่อต่อพ่วงระบบในบางจุด หลายๆคนมักจะขดสายเป็นรูปวงกลมดูสวยงามเพื่อเก็บวางเอาไว้ ซึ่งการขดสายในลักษณะรูปวงกลมนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุเพราะว่าการขดสายเป็นรูปวงกลมจะก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว การขดสายแบบนี้เปรียบเสมือนเราสร้างเสาอากาศชั้นดีขึ้นมาและมันจะรับเอาสัญญาณรอบข้างปนมาเข้ามา หากสายสัญญาณของเรามีสภาพที่ดีปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นแต่หากสายชำรุดปัญหาก็จะตามมาและยากที่จะหาสาเหตุได้ง่ายๆ
การขดสายที่ถูกต้องและลดการเกิดสนามแม่เหล็กนั่นคือให้ขดเป็นรูปหมายเลข 8 การขดสายในลักษณะนี้ช่วยลดสนามแม่เหล็กได้เป็นอย่างดี
10. กำหนดจุดดินเพียงจุดเดียว
การกำหนดจุดลงดินจากตัวเครื่องเพียงจุดเดียว ส่วนอุปกรณ์อื่นๆก็ให้ต่อเชื่อมระบบดินด้วยสายสัญญาณที่มีสายดินในตัวอยู่แล้วให้เดินทางเชื่อมโยงกันเอง เช่น ขา1ของหัวแบบXLR ขาsleeve(ขั้วต่อแบบTRS) หรือ การต่อสายดินที่มักใช้โค๊ทสีที่เป็นสีเขียวลงจุดดินเพียงจุดเดียวจากเครื่องมือที่ใหญ่ที่สุดซึ่งก็มักจะเป็นมิกเซอร์นั่นเอง เราเรียกการต่อระบบดินแบบนี้ว่า star
การต่อแบบนี้ให้ความมั่นใจอย่างมากต่อความเงียบปราศจากเสียงรบกวนอย่างเช่นเสียงฮัมได้เป็นอย่างดีและเป็นระบบที่นิยมทั่วไป
11. อย่าต่อสายดินปนไปมาหลายๆจุด
สายดินไม่ควรต่อเชื่อมโยงหลายจุดจากระบบเสียงเดียวกัน เช่น ระบบของเราต่อสายดินลงดินเมนไปแล้วหนึ่งจุดก็ควรให้อุปกรณ์ใช้ระบบดินจากเมนเดียวกันทั้งระบบไปเลย แต่ในความเป็นจริงนั้นเราอาจพบปัญหาเสียงฮัมเสียงจี่ทั้งๆที่เราลงสายดินอย่างถูกต้องไปแล้ว
ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากระบบขั้นต่อของสายสัญญาณที่เป็นเหล็กสามารถนำกระแสไฟฟ้าได้ง่าย เช่น หัวแจ๊คแบบต่างๆ อาจเกิดการแตะกันของขั้วกับสายชีลด์ที่ขาดในและเส้นลวดไปโดนเข้ากับหัวแจ็ค ลักษณะนี้สามารถสร้างเสียงรบกวนได้ง่าย หรือ เครื่องมือส่วนใหญ่ของระบบดึงไฟฟ้ามาจากจุดเดียวกัน แต่บังเอิญอีกสองเครื่องที่เหลือไปดึงไฟฟ้ามาจากปลั๊กไฟฟ้าชุดอื่นที่มีระบบดินต่างจุดไม่ใช่ชุดเดียว ลักษณะนี้ก็ถือว่ามีแนวโน้มและเสี่ยงต่อการเกิดเสียงรบกวนได้เช่นกัน
12. เกน(gain)ช่วยลดเสียงรบกวน
พยายามตั้งระดับเกนเสียงให้อยู่ในอัตราส่วนค่าความดังที่ดีที่สุดจะช่วยให้สัญญาณไหลเข้าสู่เครื่องมืออย่างมีปะสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถลดเสียงรบกวนได้อย่างมาก การปรับระดับค่าความดังไม่เหมาะสมมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอัตราเสียงรบกวนที่สูงโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว
อัตราค่าความดังด้วยการปรับเกนนั่นให้ทำในทุกๆจุดที่สัญญาณไหลผ่านจะดีที่สุดการปรับในลักษณะนี้ยังช่วยให้เกิดพลังเสียงในการตอบสนองต่อย่านความถี่ที่ราบเรียบครบมากขึ้นตามมาด้วย

ขอบคุณ
เนื้อกาอ้างอิง

T.M. Music Phuket