Subscribe:

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เสียง จี่ ฮัม ในระบบเสียง แก้อย่างไร





แนวทางในการลดและป้องกันเสียงฮัมในระบบเสียงPA
เสียงฮัม(hum) เสียงจี่รบกวน เสียงสกปรกต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบเสียงถือเป็นลักษณะเสียงที่เรามักคุ้นเคยกันเสมอในเรื่องของระบบเสียง เสียงสกปรกเหล่านี้มักมีสาเหตุต่างๆมากมายที่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา และถือว่าเป็นปัญหาคาใจผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานระบบเสียงอยู่เสมอเสมือนหนึ่งเป็นเงาก็ว่าได้ มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบเสียงมีปัญหาต่อการรับฟังอยู่เป็นประจำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเสียงPAที่มีกำลังการกระจายเสียงที่ดังมาก ลองนึกภาพดูว่าหากเสียงที่ดังมากๆและมีเสียงรบกวนแบบต่างๆปนเข้ามา ย่อมจะทำให้เสียงที่ได้ยินไม่น่าฟังอย่างยิ่ง
การป้องกันระบบเสียงรบกวนไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตามย่อมมีสาเหตุทั้งสิ้น สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากระบบเครื่องมือต่างๆรวมไปจนถึงระบบสายสัญญาณทั้งหมดที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเสียงรบกวนต่างๆมักมาจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานบ้าง ความเก่าและเสื่อมโทรมของอุปกรณ์บ้าง สายสัญญาณที่มีการเข้าขั้วที่ไม่ได้มาตราฐาน การบัดกรีที่ขาดความชำนาญ สาเหตุเบื้องต้นที่ยกตัวอย่างมานี้ล้วนเป็นหนึ่งในหลายๆสาเหตุของปัญหาในเรื่องของเสียงรบกวน
ดังนั้นปัญหาต่างๆย่อมจะไม่เกิดขึ้นหากเรามาทำความเข้าใจและหาทางป้องกันเสียแต่เนิ่นๆเสียก่อน ซึ่งหนทางในการป้องกันระบบเสียงไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างไร อีกทั้งยังเป็นแนวทางง่ายๆที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองและให้ผลดีตามมาตรฐานสากลอีกด้วย
1. พยายามต่อพ่วงระบบไฟฟ้าจากจุดๆเดียว
การต่อพ่วงระบบไฟฟ้าออกมาจากชุดจ่ายไฟเพียงจุดๆเดียว เช่น ดึงกระแสไฟฟ้าที่มาจากตู้จ่ายไฟฟ้าหรือเครื่องปั่นไฟฟ้าแล้วส่งต่อไปยังระบบเสียงทั้งระบบจะช่วยลดปัญหาเสียงฮัมและเสียงรบกวนต่างๆได้ดี เนื่องจากว่าระบบไฟฟ้าที่ถูกดึงเอาออกไปใช้งานที่มาจากจุดเดียวจะใช้ระบบสายดินจากจุดเดียวกันเท่านั้น และระบบสายดินที่ดึงออกมาจากจุดต่อไฟฟ้าหลักก็ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าระบบดิน(ground)ทั้งระบบจะมาลงที่จุดๆเดียวกันอย่างแท้จริง
ไม่แนะนำให้ต่อพ่วงระบบไฟฟ้ามาจากจุดเต้าไฟฟ้าหลายๆจุดเพื่อมาใช้งานในระบบเสียงทั้งระบบ ยกตัวอย่างเช่น มิกเซอร์ต่อพ่วงไฟฟ้ามาจากเต้าไฟฟ้าหลักตัวที่หนึ่งจากมุมห้อง ส่วนเครื่องขยายเสียงไปต่อไฟฟ้ามาจากเต้าไฟฟ้าจากอีกส่วนหนึ่งของมุมห้องซึ่งเป็นคนละจุดกัน ซึ่งการต่อพ่วงในลักษณะนี้นั้นจะมีผลเสียมากกว่าผลดีและมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงฮัมหรือเสียงรบกวนต่างๆได้
ทั้งนี้เนื่องจากว่าระบบดินนั้นไม่ได้ลงที่จุดๆเดียวกัน ทำให้เกิดการร่วมของระบบดิน (ground loop) ที่แตกต่างๆกันซึ่งไม่เป็นผลดีซักเท่าไหร่ในเรื่องของระบบเสียง ต่างจากการต่อพ่วงดึงกระแสไฟฟ้าจากจุดหลักจุดๆเดียวเพื่อป้อนสู่เครื่องเสียงทั้งระบบซึ่งเราแน่ใจได้เลยว่าระบบดินจะต้องเป็นจุดๆเดียวกันอยู่แล้วนั่นเอง
2. ต่อพ่วงระบบไฟที่เต้าไฟเฉพาะอุปกรณ์เสียงเท่านั้น
สำหรับเต้าปลั๊กไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าที่ดึงมาจากสายเมนไฟที่จะมารองรับสายไฟจากเครื่องมือต่างๆ เช่น มิกเซอร์ เครื่องขยายเสียง เครื่องปรุงแต่งเสียงต่างๆไปจนถึงเครื่องปรุงแต่งสัญญาณเสียง ต้องต่อที่ชุดเต้าปลั๊กไฟที่มาจากชุดเดียวกันเท่านั้น และห้ามนำเอาเครื่องมืออื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือในระบบออดิโอมาต่อพ่วงอย่างเด็ดขาด เช่น หม้อต้มน้ำ พัดลม เป็นต้น เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงได้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องมักจะสร้างสัญญาณรบกวนสกปรกออกมาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
การต่อพ่วงแบบแยกในลักษณะนี้สามารถลดและป้องกันเสียงรบกวนหรือเสียงฮัมที่หาสาเหตุไม่ได้ในเบื้องต้นได้ดีในระดับหนึ่งซึ่งควรทำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากว่าอุปกรณ์ในระบบออดิโอจะมีการออกแบบวงจรในการป้องกันตัวเองมาดีอยู่แล้ว การต่อพ่วงเอาอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ออดิโอมาใช้เต้าปลั๊กไฟเดียวกัน ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดเสียงสกปรกได้ไม่มากก็น้อยและบ่อยครั้งวงจรกรองกระแสไฟฟ้าในตัวเครื่องมือออดิโอเองก็เอาไม่อยู่หากกระแสไฟฟ้าที่ใช้อยู่มีอัตราการปนเปื้อนของเสียงสกปรกมากจนเกินไป
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ควรหลีกเลี่ยงในการต่อพ่วงใช้งานร่วมกับปลั๊กไฟฟ้าของระบบออดิโอได้แก่ หลอดนีออน เครื่องควบคุมแสงสว่างหรือที่เรียกว่า ดิมเมอร์(dimmer) คอมพิวเตอร์ รวมไปจนถึงเครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และทีวี
3.พยายามต่อระบบในรูปแบบ Balanced
ในระบบของสายสัญญาณนั้น ระบบการต่อแบบที่เรียกว่า บาล๊านซ์(balanced)ถือได้ว่าเป็นระบบการต่อที่ดีที่สุดและสามารถป้องกันเสียงรบกวนได้ดีที่สุดเช่นกัน ดังนั้นพยายามต่อระบบสายสัญญาณของระบบออดิโอทั้งระบบเป็นแบบ บาล๊านซ์(balanced) และพยายามหลีกเลี่ยงการต่อด้วยระบบที่เรียกว่า อันบาล๊านซ์(unbalanced)โดยเด็ดขาด เนื่องจากคุณภาพและความสามารถในการลดทอนเสียงรบกวนทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับระบบบาล๊านซ์(balanced)
ในระบบบาล๊านซ์(balanced)ลักษณะหัวขั้วที่ใช้ต่อพ่วงสัญญาณก็ได้แก่ หัวแจ็คแบบ XLR , TRS (โฟนแจ๊ค) ต่างจากระบบแบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)ที่หัวขั้นจะเป็นแบบ RCA , TS (แจ็คกีต้าร์)
ทำไมระบบการต่อแบบบาล๊านซ์(balanced)จึงดีกว่าการต่อสัญญาณในระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)และเป็นที่นิยมกันในหมู่นักออดิโอที่เน้นเรื่องความสะอาดของเสียงและความเงียบ ซึ่งก็ต้องยกความดีให้กับการออกแบบทางเดินของระบบสัญญาณที่เน้นให้สัญญาณที่เป็นgroundออกอิสระออกมาจากสายสัญญาณเส้นอื่น จึงทำให้สายสัญญาณในระบบบาล๊านซ์(balanced)มีถึงสามเส้นด้วยกัน ซึ่งแยกรายละเอียดออกเป็น ground , + , - นั่นเอง
ในขณะเดียวกันสำหรับสายสัญญาณที่เป็นระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)จะมีสายสัญญาณเพียงสองเส้นเท่านั้นซึ่งก็ได้แก่ ground , + ซึ่งส่วนสายสัญญาณที่ขาดหายไปก็คือ –(ลบ)
ตรงนี้เราจะเห็นข้อแตกต่างกันบ้างแล้วโดยเฉพาะจำนวนของสายสัญญาณ และจำนวนที่มีมากกว่าของระบบแบบบาล๊านซ์(balanced)นี่เองจึงเป็นสาเหตุให้ความสามารถในการถ่ายโอนสัญญาณมีคุณภาพสูงกว่ามากและสามารถลดเสียงรบกวนที่ปนเปื้อนมากับสัญญาณอยู่ตลอดเวลาออกไปได้ดีในระดับหนึ่ง แต่สำหรับระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)จะมีปัญหาตรงที่ว่าจำนวนสายสัญญาณมีน้อยกว่าถึงหนึ่งเส้น นั่นก็คือสายสัญญาณที่เป็นขั้วลบไม่มีตรงจุดนี้จึงทำให้การแยกเสียงรบกวนทำได้ไม่ดีเพราะเสียงรบกวนยังคงปนเข้ามากับสัญญาณอยู่เช่นเดิมโดยไม่มีการแยกออกไปแต่อย่างไร
เมื่อระบบเกิดเสียงรบกวนขึ้นเมื่อไหร่สัญญาณที่ต่อในระบบระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)มักจะมีปัญหามากที่สุดโดยเฉพาะเสียงฮัมและเสียงจี่ต่างๆ ซึ่งมักจะแก้ไขลำบาก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำระบบแบบอันบาล๊านซ์(unbalanced) สำหรับระบบPAและถ้าจำเป็นต้องต่อพ่วงระบบที่มีแหล่งต้นสัญญาณมาจากระบบแบบอันบาล๊านซ์(unbalanced) อย่างเช่น กีต้าร์ คีย์บอร์ด เบส เครื่องเล่นซีดี เป็นต้น แหล่งสัญญาณเหล่านี้มักจะเป็นระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced)ส่วนมาก เราจำเป็นต้องปรับสัญญาณเหล่านี้ให้กลับมาเป็นระบบบาล๊านซ์(balanced)เพื่อให้เข้าได้กับระบบที่ทำเป็นแบบบาล๊านซ์(balanced)อยู่แล้วทั้งหมด ซึ่งการปรับนี้ทำได้ด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ดีไอ (D.I box) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับงานระบบPAที่ต้องมีไว้ใช้เป็นอย่างยิ่ง
4. อย่าต่อสายGroundที่ตัวหัวXLR
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าในระบบการต่อหัวแบบXLRนั้นจะมีสามขั้วอยู่แล้วคือ ground , + , - ซึ่งสามขั้วของหัวXLRก็ถือได้ว่าเพียงพอต่อการป้องกันเสียงรบกวนต่างๆดีที่สุดอยู่แล้ว แต่มักจะมีผู้เข้าใจผิดที่มักจะต่อขั้วสายดิน(ground)ไปบัดกรีติดกับตัวหัวปลั๊กXLRโดยตรง โดยเข้าใจว่าสามารถลดเสียงรบกวนได้ด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะการต่อground ที่ทั้งตัวขั้วในXLRและในขณะเดียวกันก็ต่อที่ตัวโลหะของXLRที่ปลอก ถือว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการgroundวนไปวนมาที่เรียกว่า ground loop ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงฮัมหรือเสียงรบกวนอื่นๆตามมาเช่นกันและยังสร้างปัญหาไฟดูดอีกด้วย
ต้องเข้าใจด้วยว่าหัวขั้วแบบXLRถูกออกแบบมาให้มีสามขาและรองรับการต่อสายแบบมาตรฐานสากลอยู่แล้ว การพยายามต่อด้วยวิธีการอื่นๆหรือปรับปรุงด้วยวิธีการต่อแบบอื่นๆย่อมไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องนักและมักจะส่งผลกับปัญหาที่ต้องตามแก้ไขอยู่บ่อยๆโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไม่สามารถไล่เช็คตรวจสอบระบบได้ง่ายๆตามความเป็นจริง
5. ระยะสายมีผลต่อคุณภาพเสียง
ขอเน้นว่าระยะสายสัญญาณยิ่งยาวยิ่งทำให้คุณภาพเสียงลดลงเรื่อยๆเนื่องจากค่าความต้านทานที่เพิ่มตามระยะทางความยาวของสายสัญญาณ การต่อใช้งานสายสัญญาณในระบบอันบาล๊านซ์(unbalanced) พยายามให้สายสัญญาณสั้นมากที่สุดไม่กี่เมตรย่อมเป็นผลดีมากกว่าสายที่ยาวเป็นสิบเมตรที่ทำให้คุณภาพเสียงลดลงอย่างมาก ซึ่งจะแตกต่างจากสายสัญญาณในการต่อแบบบาล๊านซ์(balanced)ที่สามารถลากสายสัญญาณได้ยาวเป็นสิบเมตรโดยยังไม่มีเสียงรบกวนตามมารวมถึงคุณภาพเสียงที่ยังดีอยู่ด้วย
6. พยายามวางสายสัญญาณให้ห่างจากสายไฟฟ้า
กฎข้อนี้ถือเป็นมาตรฐานของการวางระบบสายสัญญาณที่ดีและนิยมทำกันทั่วไป ความพยายามในการแยกสายสัญญาณให้ออกห่างมาจากสายไฟฟ้านั้นก็เพราะว่า ในสายไฟฟ้ามีสนามแม่เหล็กกระจายออกมาโดยธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว ลองจินตนาการเอาเองว่าในขณะที่สายไฟฟ้ากระจายสนามแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ในขณะเดียวกันสายสัญญาณระบบเสียงก็วางทับซ้อนกันอยู่ด้วย สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่แพร่กระจายออกมาตลอดเวลานั้นก็ย่อมต้องกวนเข้าไปในระบบสายสัญญาณเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากว่าระบบสายสัญญาณถูกต่อระบบมาอย่างถูกต้องและอยู่ในสภาพที่ดีพร้อมอาการกวนที่เกิดจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสายไฟฟ้าก็ย่อมไม่เกิดขึ้น แต่ในทางกลับกันหากวันใดที่ระบบสายสัญญาณนั้นๆเกิดสภาพชำรุดทรุดโทรมขึ้นมา โอกาสที่กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าจะเข้าไปกวนในระบบสายสัญญาณก็ย่อมสามารถเกิดได้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสายสัญญาณของระบบเสียงและสายสัญญาณของระบบไฟฟ้าทับซ้อนกันอยู่นั่นเอง
ดังนั้นการวางสายสัญญาณไฟฟ้าให้ออกห่างจากสายสัญญาณระบบเสียงย่อมเป็นเรื่องที่ดีและเป็นการสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเราสามารถลดโอกาสการกวนกันของสัญญาณแม่เหล็กได้อย่างแน่นอน
เช่นกันอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงให้มากๆก็คือหม้อแปลงไฟฟ้านั่นเอง หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่กระจายสนามแม่เหล็กออกมาได้อย่างมากและในขณะเดียวกันก็แรงมากพอที่จะสามารถกวนเข้าสู่ระบบเสียงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย ขอแนะนำว่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำสายสัญญาณระบบเสียงเข้าใกล้หรือทับด้วยหม้อแปลงเป็นดีที่สุด
มีข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่งว่า ในกรณีที่สายสัญญาณระบบเสียงจำเป็นต้องผ่านสายสัญญาณไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พยายามให้สายสัญญาณเสียงพาดในในลักษณะตั้งฉากซึ่งก็คือ90องศานั่นเองหากเปรียบเป็นภาพก็เหมือนกับวางในลักษณะรูปกากกะบาทนั่นเอง อย่าพยายามวางสายสัญญาณเสียงทอดยาวไปตามสายไฟฟ้าจะดีที่สุด
7. จัดการกับระบบดินในขณะต่อพ่วง
ระบบดินของระบบเสียงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนพอสมควรซึ่งระบบดินที่ดีสามารถลดปัญหาเสียงรบกวนร้อยแปดได้อย่างดี การจัดการระบบดินในกรณีที่ต่อพ่วงสัญญาณระบบเสียงมาจากอุปกรณ์ระบบเสียงชุดอื่นนอกเหนือจากชุดที่เราทำงานอยู่ ยกตัวอย่างเช่น
ในกรณีที่เราติดตั้งระบบPAเรียบร้อยแล้วมีอุปกรณ์อย่างอื่นมาขอต่อพ่วงสัญญาณจากเรา เช่น ระบบภาพต้องการเสียงเพื่อป้อนเข้าสู่กล้อง หรือ มิกเซอร์ตัวอื่นที่ต้องการแยกสัญญาณออกจากชุดของเราเพื่อนำไปบันทึกหรือส่งต่อไปยังห้องอื่นๆ ในหลายๆครั้งสามารถสร้างปัญหาอย่างน่าปวดหัวให้ เช่น เสียงจี่ เสียงฮัม เป็นต้น ซึ่งจะเกิดเมื่อต่อสัญญาณเรียบร้อยแต่พอเอาสายสัญญาณที่มาขอต่อพ่วงออกจากระบบของเรากลับหาย
ปัญหาดังกล่าวคิดว่าผู้ที่อยู่ในวงการPAมักจะพบเจออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดมักเกิดจากระบบดินที่ไม่ตรงกันซึ่งเกิดจากเครื่องมือระบบเสียงทั้งสองชุดใช้แหล่งไฟที่ต่างกัน หมายความว่าไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามาจากปลั๊กจ่ายไฟชุดเดียวกัน ลักษณะนี้มักจะก่อปัญหาเสียงจี่ เสียงฮัมได้ง่ายมาก
ดังนั้นการแก้ปัญหาจำเป็นต้องจัดการกับระบบทางเดินของระบบดินให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อน ซึ่งโดยมากจะนิยมลอยขาดินไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งโดยไม่ต่อระบบดินแบบครบวงจร เช่น การปลดขาที่เป็นดินออกเพื่อลดการเกิดอาการที่เรียกว่าการวนไปมาของระบบดิน(ground loop) จุดที่ควรลอยระบบดินเอาไว้ขอแนะนำปลายทางของสัญญาณจะดีมากนั่นคือลอยขาระบบดินที่เครื่องขยายเสียง(signal input)
สำหรับวิธีหนึ่งที่นิยมใช้งานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคือใช้เครื่องมือที่เรียกว่า D.I box ซึ่งเครื่องมือนี้จะมีสวิทช์ที่สามารถลอยขากราวด์(ดิน)ได้โดยไม่ต้องตัดขากราวน์ออกจากสายให้ยุ่งยากแต่อย่างไร
8. พยายามแยกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถก่อให้เกิดเสียงรบกวน
อุปกรณ์ที่สามารถสร้างเสียงรบกวนได้ง่ายเมื่ออยู่ใกล้มิกเซอร์หรือระบบเสียงอย่างเช่นหม้อแปลงไฟฟ้า(transformers)จะมีอัตราการกวนของสนามแม่เหล็กสูงมักก่อให้เกิดเสียงฮัม(hum)ได้ง่าย จอคอมพิวเตอร์มอนิเตอร์ มอเตอร์ไฟฟ้า หลอดนีออนหรือสายไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้พยายามแยกสายสัญญาณให้ห่างจากเครื่องมือระบบเสียงจะดีที่สุด
9. อย่าขดสายสัญญาณในรูปวงกลม
ในกรณีสายสัญญาณมีความยาวเหลือเมื่อต่อพ่วงระบบในบางจุด หลายๆคนมักจะขดสายเป็นรูปวงกลมดูสวยงามเพื่อเก็บวางเอาไว้ ซึ่งการขดสายในลักษณะรูปวงกลมนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุเพราะว่าการขดสายเป็นรูปวงกลมจะก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว การขดสายแบบนี้เปรียบเสมือนเราสร้างเสาอากาศชั้นดีขึ้นมาและมันจะรับเอาสัญญาณรอบข้างปนมาเข้ามา หากสายสัญญาณของเรามีสภาพที่ดีปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นแต่หากสายชำรุดปัญหาก็จะตามมาและยากที่จะหาสาเหตุได้ง่ายๆ
การขดสายที่ถูกต้องและลดการเกิดสนามแม่เหล็กนั่นคือให้ขดเป็นรูปหมายเลข 8 การขดสายในลักษณะนี้ช่วยลดสนามแม่เหล็กได้เป็นอย่างดี
10. กำหนดจุดดินเพียงจุดเดียว
การกำหนดจุดลงดินจากตัวเครื่องเพียงจุดเดียว ส่วนอุปกรณ์อื่นๆก็ให้ต่อเชื่อมระบบดินด้วยสายสัญญาณที่มีสายดินในตัวอยู่แล้วให้เดินทางเชื่อมโยงกันเอง เช่น ขา1ของหัวแบบXLR ขาsleeve(ขั้วต่อแบบTRS) หรือ การต่อสายดินที่มักใช้โค๊ทสีที่เป็นสีเขียวลงจุดดินเพียงจุดเดียวจากเครื่องมือที่ใหญ่ที่สุดซึ่งก็มักจะเป็นมิกเซอร์นั่นเอง เราเรียกการต่อระบบดินแบบนี้ว่า star
การต่อแบบนี้ให้ความมั่นใจอย่างมากต่อความเงียบปราศจากเสียงรบกวนอย่างเช่นเสียงฮัมได้เป็นอย่างดีและเป็นระบบที่นิยมทั่วไป
11. อย่าต่อสายดินปนไปมาหลายๆจุด
สายดินไม่ควรต่อเชื่อมโยงหลายจุดจากระบบเสียงเดียวกัน เช่น ระบบของเราต่อสายดินลงดินเมนไปแล้วหนึ่งจุดก็ควรให้อุปกรณ์ใช้ระบบดินจากเมนเดียวกันทั้งระบบไปเลย แต่ในความเป็นจริงนั้นเราอาจพบปัญหาเสียงฮัมเสียงจี่ทั้งๆที่เราลงสายดินอย่างถูกต้องไปแล้ว
ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากระบบขั้นต่อของสายสัญญาณที่เป็นเหล็กสามารถนำกระแสไฟฟ้าได้ง่าย เช่น หัวแจ๊คแบบต่างๆ อาจเกิดการแตะกันของขั้วกับสายชีลด์ที่ขาดในและเส้นลวดไปโดนเข้ากับหัวแจ็ค ลักษณะนี้สามารถสร้างเสียงรบกวนได้ง่าย หรือ เครื่องมือส่วนใหญ่ของระบบดึงไฟฟ้ามาจากจุดเดียวกัน แต่บังเอิญอีกสองเครื่องที่เหลือไปดึงไฟฟ้ามาจากปลั๊กไฟฟ้าชุดอื่นที่มีระบบดินต่างจุดไม่ใช่ชุดเดียว ลักษณะนี้ก็ถือว่ามีแนวโน้มและเสี่ยงต่อการเกิดเสียงรบกวนได้เช่นกัน
12. เกน(gain)ช่วยลดเสียงรบกวน
พยายามตั้งระดับเกนเสียงให้อยู่ในอัตราส่วนค่าความดังที่ดีที่สุดจะช่วยให้สัญญาณไหลเข้าสู่เครื่องมืออย่างมีปะสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถลดเสียงรบกวนได้อย่างมาก การปรับระดับค่าความดังไม่เหมาะสมมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอัตราเสียงรบกวนที่สูงโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว
อัตราค่าความดังด้วยการปรับเกนนั่นให้ทำในทุกๆจุดที่สัญญาณไหลผ่านจะดีที่สุดการปรับในลักษณะนี้ยังช่วยให้เกิดพลังเสียงในการตอบสนองต่อย่านความถี่ที่ราบเรียบครบมากขึ้นตามมาด้วย

ขอบคุณ
เนื้อกาอ้างอิง

T.M. Music Phuket

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

expender ทำหน้าที่อะไร

Expander สำหรับงาน live sound มีไว้ลดเสียงเบาๆ ให้มันเบาลงไปอีกครับ
ถ้ารู้จัก Gate ก็จะเข้าใจได้ง่ายๆ เลยครับ

Gate นี่ จะทำหน้าที่เหมือนมือวิเศษครับ
มันจะเปิดเสียงให้ผ่านมัน เมื่อเสียงดังกว่าที่เราตั้งค่าเอาไว้(เรียกว่า Threshold)
เอาไว้สำหรับตัดเสียง noise ออกเวลาที่ไม่มีสัญญาณเสียงเข้ามาครับ
อย่างเช่น tom ที่นานๆ จะตีซักครั้งนึง ตอนที่ยังไม่ได้ตี มันจะมีเสียงรบกวนจากกลองใบอื่นๆ อยู่ พอเราใส่ Gate ลงไป
ก็จะทำให้เสียงรบกวนมันหายไป พอตี tom ใบนั้นปุ๊ป เสียงจะผ่านออกมาปั๊บ ประมาณนั้นครับ

Expander ก็คล้ายๆ กันครับ แต่จะไม่เหมือนตรงที่ Gate จะทำงานลักษณะแบบกดปุ่ม เปิด กับปิด ให้เสียงผ่านไปหรือไม่
ทันทีทันใด และเป็นการ "เปิด" กับ "ปิด" แบบสมบูรณ์
แต่ Expander จะเหมือนกับเรากำลังแตะ Fader อยู่ พอได้ยินเสียงก็เลื่อน Fader มาที่ 0dB
แต่พอเสียงมันเบาลงกว่า Threshold มือที่แตะ Fader อยู่ก็ลด Fader ลงมาตามเสียงที่เบาลงเป็นสัดส่วนกันกับเสียงที่
เบาลง(เรียกว่าค่าสัดส่วนนี้ว่า Ratio)
พอจะนึกภาพออกไหมครับ อย่างเช่นถ้า Ratio เป็น 1:2 ก็จะหมายถึงว่า
ถ้าสัญญาณต่ำกว่า Threshold ลงมา 5 dB สัญญาณที่ออกไปจาก Expander จะถูกลดลงมาอีกเท่านึง
กลายเป็นสัญญาณขาออกจริงๆ จะลดลงไป 10 dB ลองนึกตามดูครับ

ยังมีค่า parameter อย่างอื่นอีก ซึ่งเหมือนกัน สำหรับ expander และ gate
คือ attack time กับ release time ครับ
attack time คือค่าเวลาที่พอเสียงมันเกิน threshold แล้ว effect จะเปิดเสียงเลยหรือไม่ ถ้า attack time เร็ว มันก็จะเปิดให้เสียงผ่านไปเร็วครับ
release time คือค่าเวลาที่มันจะกดเสียงลงมาเมื่อสัญญาณเสียงต่ำกว่าค่า threshold ครับ
ถ้าเร็วไปหางเสียงมันจะห้วนๆ ครับ และบางทีจะได้ยินเสียงคล้ายๆ distortion ออกมาด้วยครับ
ถ้าใช้กับพวกเสียงความถี่ต่ำๆ gain reduction มันวิ่งไปตามรูป waveform ของ low frequency
ก็จะได้ยินเสียงสั่นๆ แตกๆ เลยครับ

เวลาปรับใช้งานก็คือปรับให้มันเปิดเมื่อมีการ perform จริงๆ ครับ ไม่ใช่มันเปิดอยู่ตลอดเวลา
หรือปิดตลอดเวลา พอเสียงมาแล้วก็ยังปิดอยู่ เสียงมันก็ไม่ออก...ยังงี้ก็ไม่ถูกครับ

ปรับค่า attack กับ release ให้เหมาะกับเสียงเครื่องดนตรีเครื่องนั้นครับ อย่างถ้าใช้กับ tom ก็อาจจะต้องปรับ attack
ให้เร็วมากๆ หน่อย เพื่อที่จะไม่สูญเสียงหัวเสียง แล้วก็ปรับ release ให้ gain reduction มันลงมา
หลังจากที่หางเสียงมันลดลงมาแล้ว ไม่ใช่ว่าเสียงยังอยู่เลยแต่เริ่มกดแล้ว ยังงี้เกิด distortion แน่นอน และหางเสียงก็กุดด้วย
จริงๆ แต่ละยี่ห้อ ก็มีคาแรคเตอร์ต่างๆ กันไปอีกครับ บางตัวก็มีให้ปรับ hold time ได้อีกครับ แต่น่าจะพอเดาๆ ได้นะครับว่าเอาไว้ทำอะไร


ถ้าจะเปรียบเทียบ Gate จะเหมือนมือมากดสวิทซ์เปิด-ปิด พอไม่ได้ยินสัญญาณ (หรือจะพูดว่าต่ำว่า threshold น่าจะถูกต้องกว่า) ก็ปิดไปเลย พอสัญญาณมา ก็เิปิด...
แต่ Expander เหมือนมือ มาลด Fader ลงเมื่อสัญญาณต่ำกว่า threshold ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนที่เรากำหนดไว้